วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

2.2 ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism)
                (http://www.novabizz.com/Learning_Cognitive.htm ) ได้รวบรวมแล้วกล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่า เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด  ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสมอง  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น  การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล  การสร้างความหมายและความสัมพันธ์ของข้อมูลและการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่างๆ  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง  ทฤษฏีในกลุ่มนี้ที่สำคัญๆ มี  5  ทฤษฏี  คือ  
-   ทฤษฎีเกสตัลท์ (Gestalt Theory) แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดซึ่งเป็นกระบวนการภายในตัวมนุษย์  บุคคลจะเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เป็นส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จะเน้นกระบวนการคิด  การสอนโดยเสนอภาพรวมก่อนการเสนอส่วนย่อย  ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากและหลากหลายซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามรถคิดแก้ปัญหา  คิดริเริ่มและเกิดการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นได้
 -   ทฤษฎีสนาม (Field Theory) แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแรงจูงใจหรือแรงขับที่จะกระทำให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนต้องการ หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเข้าไปอยู่ใน โลกของผู้เรียน การสร้างแรงจูงใจหรือแรงขับโดยการจัดสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและจิตวิทยาให้ดึงดูดความสนใจและสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
 -   ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory)  ของทอลแมน( Tolman) แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้คือ การเรียนรู้เกิดจากการใช้เครื่องหมายเป็นตัวชี้ทางให้แสดงพฤติกรรมไปสู่จุดหมายปลายทาง  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการสร้างแรงขับและหรือแรงจูงใจให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายใดๆ  โดยใช้เครื่องหมาย  สัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย
 -   ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา(Intellectual Development Theory)  นักคิดคนสำคัญของทฤษฏีนี้มีอยู่  2  ท่าน  ได้แก่  เพียเจต์(Piaget)  และบรุนเนอร์(Bruner)  แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้เน้นเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลที่เป็นไปตามวัยและเชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากระบวนการการค้นพบด้วยตนเอง  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้  คือ  คำนึงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนและจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการนั้น  ให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมากๆ  ควรเด็กได้ค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระและสอนการคิดแบบรวบยอดเพื่อช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
 -   ทฤษฏีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning)  ของออซูเบล (Ausubel)  เชื่อว่า  การเรียนรู้จะมีความหมายแก่ผู้เรียน  หากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รู้มาก่อน  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้  คือ  มีการนำเสนอความคิดรวบยอดหรือกรอบมโนทัศน์  หรือกรอบแนวคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้เรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระนั้นๆ  จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาสาระนั้นอย่างมีความหมาย
ทิศนา  แขมมณี (2553:59) ได้กล่าวถึงแล้วรวบรวมทฤษฎีนี้ว่า กลุ่มพุทธินิยม หรือกลุ่มความรู้ความเข้าใจ หรือกลุ่มที่เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด นักคิดกลุ่มนี้เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล การสร้างความหมาย และความสัมพันธ์ของข้อมูล และการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่าง ๆ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง
                ทฤษฎีในกลุ่มนี้ทีสำคัญ ๆ มี 5 ทฤษฎี คือ
                1.ทฤษฎีเกสตอลท์ (Gestalt’s Theory)
                      ทฤษฎีการเรียนรู้
        1) การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดซึ่งเป็นกระบวนการภายในตัวของมนุษย์
        2) บุคคลจะเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เป็นส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย
       3) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ
                                3.1) การรับรู้ (Perception) การรับรู้เป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ประสาทสัมผัสรับสิ่งเร้าแล้วถ่ายโยงเข้าสู่สมองเพื่อผ่านเข้าสู่กระบวนการคิด สมองหรือจิตจะใช้ประสบการณ์เดิมตีความหมายของสิ่งเร้าและแสดงปฏิกิริยาตอบสนองออกไปตามที่สมอง/จิต ตีความหมาย
                                3.2) การหยั่งเห็น (insight) เป็นการค้นพบหรือการเกิดความเข้าใจในช่องทางแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที อันเนื่องจากผลการพิจารณาปัญหาโดยส่วนรวม และการใช้กระบวนการทางความคิดและสติปัญญาของบุคคลนั้น
                             4) กฎการจัดระเบียบการรับรู้ (perception) เป็นการแปลความหมายจากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ส่วน คือ หู ตา จมูก ลิ้น และผิวหนัง การรับรู้ทางสายตาจะประมาณร้อยละ 75 ของการรับรู้ทั้งหมด ดังนั้น กลุ่มทฤษฎีเกสตัลท์จึงจัดระเบียบการรับรู้โดยการแบ่งเป็น 7 กฎ  ดังนี้
                                4.1) กฎการรับรู้ส่วนรวมและส่วนย่อย (Law of Pragnanz) ประสบการณ์เดิมมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคล การรับรู้ของบุคคลต่อสิ่งเร้าเดียวกันอาจแตกต่างกันได้ เพราะการใช้ประสบการณ์เดิมมารับรู้ส่วนรวมและส่วนย่อยต่างกัน
                                4.2) กฎแห่งความคล้ายคลึง (Law of Similarity) สิ่งเร้าใดที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน บุคคลมักรับรู้เป็นพวกเดียวกัน
จากรูป จะเห็นจุดกลมทึบตามแนวตั้งเด่นและเห็นจุดความโปร่ง  แนวตั้งเด่น  ตามแนวนอนมีจุดความทึบและโปร่งสลับกัน  เราจะไม่เห็นเด่น  ในครั้งแรกที่มองเราต้องตั้งใจจึงจะเห็น
                                4.3) กฎแห่งความใกล้เคียง/ใกล้ชิด (Law  of Proximity) สิ่งเร้าที่มีความใกล้เคียงกันบุคคลมักรับรู้เป็นพวกเดียวกัน และถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเท่ากัน  สิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกันจะถูกรับรู้ด้วยกัน                                
จากรูป จะเห็นเส้นขนาน  6  คู่  ตามแนวตั้งแทนเส้นเดี่ยว  12 เส้น  ซึ่งเป็นการพิสูจน์ (law of  proximity)  ของแวร์ไทมเมอร์  โดยตาจะมองเห็นเส้นตรงตั้งที่อยู่ใกล้ชิดกันจะถูกรับรู้พร้อมกัน
                                4.4) กฎแห่งความสมบูรณ์ (Law of Closure) แม้สิ่งเร้าที่บุคคลรับรู้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่บุคคลสามารถรับรู้ในลักษณะสมบูรณ์ได้ ถ้าบุคคลมีประสบการณ์เดิมในสิ่งเร้านั้น
                                4.5) กฎแห่งความต่อเนื่อง สิ่งเร้าที่มีความต่อเนื่องกัน หรือมีทิศทางไปในแนวเดียวกัน บุคคลมักรับรู้เป็นพวกเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกัน หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน
                                4.6) บุคคลมักมีความคงที่ในความหมายของสิ่งที่รับรู้ตามความเป็นจริง กล่าวคือ เมื่อบุคคลรับรู้สิ่งเร้าในภาพรวมแล้วจะมีความคงที่ในการรับรู้สิ่งนั้นในลักษณะเป็นภาพรวมดังกล่าว ถึงแม้ว่าสิ่งเร้านั้นจะได้เปลี่ยนแปรไปเมื่อรับรู้ในแง่มุมอื่น เช่น เมื่อเห็นปากขวดกลมเรามักจะเห็นว่ามันกลมเสมอ ถึงแม้ว่าในการมองบางมุม ภาพที่เห็นจะเป็นรูปวงรีก็ตาม
                                4.7) การรับรู้ของบุคคลอาจผิดพลาด บิดเบือน ไปจากความเป็นจริงได้ เนื่องมาจากลักษณะของการจัดกลุ่มสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการลวงตา เช่น เส้นตรงในภาพ ก. ดูสั้นกว่าเส้นตรงในภาพ ข. ทั้ง ๆ ที่ยาวเท่ากัน
          5) การเรียนรู้แบบหยั่งเห็น (insight) ของโคห์เลอร์ (Wolfgang Kohler) โดยได้ทำการทดลองขังลิงชิมแพนซีที่ชื่อ สุลต่านไว้ในกรงพร้อมท่อนไม้ขนาดสั้นยาวต่าง ๆ กัน นอกกรงได้แขวนกล้วยไว้หวีหนึ่งไกลเกินกว่าที่ลิงจะเอื้อมหยิบได้ ซึ่งลิงก็ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้กินกล้วย เช่น เอื้อมมือหยิบ ส่งเสียงร้อง เขย่ากรง ปีนป่าย จนกระทั่งการหยิบไม้มาเล่น ในที่สุดลิงก็สามารถใช้ไม้สอยกล้วยมากินได้  สรุปได้ว่า ลิงมีการเรียนรู้แบบหยั่งเห็น เป็นการค้นพบหรือเกิดความเข้าใจในช่องทางแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที อันเนื่องมาจากผลการพิจารณาปัญหาโดยส่วนรวมและการใช้กระบวนการทางความคิดและสติปัญญาของอบุคคลนั้นในการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เผชิญ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นก็คือประสบการณ์ หากมีประสบการณ์สะสมไว้มาก การเรียนรู้แบบหยั่งเห็นก็จะเกิดขั้นได้มากเช่นกัน
2. ทฤษฎีสนาม (Field Theory)
         จากทฤษฎีเกสตอลท์ได้จัดตั้งกฎของการจัดระบบอย่างสมบูรณ์แบบเกสตอลท์  คือ กฎ ของ Figure – Ground ซึ่งเป็นทฤษฎีสนามของการรับรู้ โดย เคิร์ท เลวิน (Kurt Lewin) เป็นผู้ริเริ่มทฤษฎี
        “Figure”  เป็นสิ่งที่เราเห็นหรือรับรู้  เป็นศูนย์กลางของโฟกัส
        “ground”  คือ พื้นอยู่ข้างหลังของรูป  ที่เราเห็นหรือรับรู้
        กฎของ     (Figure - Ground)      กล่าวว่า  สนามของการรับรู้  (Perceptueld) แบ่งเป็น  2  ส่วน คือ  ส่วนที่อยู่ข้างหน้า (Foreground) และส่วนที่อยู่ข้างหลัง (Background) ในการมองสิ่งแวดล้อม  ถ้ารับรู้อย่างหนึ่งเป็นรูปอีกอย่างหนึ่งก็จะเป็น ground “Figure” และ (Ground)  จะผลัดเปลี่ยนกัน  ตัวอย่างเช่น  การมองภาพรูป   หน้าคนแก่”  และ  หน้าหญิงสาว
  ทฤษฎีการเรียนรู้
                1) พฤติกรรมของคนมีพลังและทิศทาง สิ่งใดที่อยู่ในความสนใจและความต้องการของตนจะมีพลังเป็น + สิ่งที่นอกเหลือจากความสนใจ จะมีพลังเป็น -  ในขณะใดขณะหนึ่งคนทุกคนจะมี โลกหรือ อวกาศชีวิต” (Life space) ของตน ซึ่งจะประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical environment) ซึ่ง สถานที่ สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยา (phychological environment) ซึ่งได้แก่ แรงขับ (drive)  แรงจูงใจ (motivation) เป้าหมายหรือจุดหมายปลายทาง (goal) รวมทั้งความสนใจ (interest)
                2) การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแรงจูงใจหรือแรงขับที่จะกระทำให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนต้องการ
3.ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory)
ทอลแมน (Tolman) กล่าวว่า การเรียนรู้เกิดจากการใช้เครื่องหมาย เป็นตัวชี้ทางให้แสดงพฤติกรรมไปสู่จุดหมายปลายทางทฤษฎีของทอลแมนสรุปได้ดังนี้
                 ทฤษฎีการเรียนรู้
                                1) ในการเรียนรู้ต่าง ๆ ผู้เรียนมีการคาดหมายรางวัล (reward expentancy) หากรางวัลที่คาดว่าจะได้รับไม่ตรงตามความพอใจและความต้องการ ผู้เรียนจะพยายามแสวงหารางวัลหรือสิ่งที่ต้องการต่อไป
                                2) ขณะที่ผู้เรียนพยายามจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ สถานที่ (place learning) และสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางตามไปด้วย
                                3)  ผู้เรียนมีความสามารถที่จะปรับการเรียนรู้ของตนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จะไม่กระทำซ้ำ ๆ ในทางที่ไม่สามารถสนองความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของตน
                                4)  การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น บางครั้งจะไม่แสดงออกในทันที  อาจจะแฝงอยู่ในตัวผู้เรียนไปก่อนจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม หรือจำเป็นจึงจะแสดงออก (latent learning)
4. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development Theory)
                4.1. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์
                                เพียเจต์ (Piaget) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร ทฤษฎของเพียเจต์ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพียเจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น  เพียเจต์ สรุปว่า พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม
ทฤษฎีการเรียนรู้
      ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ มีสาระสรุปได้ดังนี้ (Lall and Lall, 1983:45-54)
                                1)  พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้
                                    1.1)  ขั้นรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส (Sensorimotor Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 0-2 ปี ความคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นกับการรับรู้และการกระทำ เด็กยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และยังไม่สามารถเข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่น
                                     1.2) ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 2-7 ปี ความคิดของเด็กวัยนี้ยังขึ้นอยู่กับการรับรู้เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถที่จะใช้เหตุผลอย่างลึกซึ้ง แต่สามารถเรียนรู้และใช้สัญลักษณ์ได้ การใช้ภาษา แบ่งเป็นขั้นย่อย ๆ 2 ขั้น คือ
                                          2.1.1) ขั้นก่อนเกิดความคิดรวบยอด (Pre-Conceptual Intellectual Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 2-4 ปี
                                          2.1.2) ขั้นการคิดด้วยความเข้าใจของตนเอง (Intuitive Thinking Period) เป็นพัฒนาการในช่วงอายุ 4-7 ปี
                                     1.3) ขั้นการคิดแบบรูปธรรม (Concrete Operational Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 7-11 ปี เป็นขั้นที่การคิดของเด็กไม่ขึ้นกับการรับรู้จากรูปร่างเท่านั้น เด็กสามารถสร้างภาพในใจ และสามารถคิดย้อนกลับได้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวเลขและสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น
                                     1.4) ขั้นการคิดแบบนามธรรม (Formal Operational Period) เป็นขั้นพัฒนาการในช่วงอายุ 11-15 ปี เด็กสามารถคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ และสามารถคิดตั้งสมมติฐานและใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้
                                2) ภาษาและกระบวนการคิดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่
                                3) กระบวนการทางสติปัญญามีลักษณะดังนี้
                                      3.1) การซึมซับหรือการดูดซึม (assimilation) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสมเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
                                      3.2) การปรับและจัดระบบ (accommodation) คือ กระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ให้เข้ากันเป็นระบบหรือเครือข่ายทางปัญญาที่ตนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้น
                                     3.3) การเกิดความสมดุล (equilibration) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น หากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งจะก่อนให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล
                4.2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรุนเนอร์
                                บรุนเนอร์ (Bruner) เป็นนักจิตวิทยาที่สนใจและศึกษาเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญาต่อเนื่องจากเพียเจต์ บรุนเนอร์เชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการค้นพบด้วยตัวเอง (discovery learning) แนวคิดที่สำคัญ ๆ ของบรุนเนอร์ มีดังนี้ (Brunner,1963:1-54)
                                ทฤษฎีการเรียนรู้
                                                1) การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์ และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
                                                2) การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ
                                                3) การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
                                                4) แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
                                                5) ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ขั้นใหญ่ ๆ คือ
                                                                5.1) ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือ ขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ
                                                                5.2) ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้ และสามารถเรียนรู้จากภาพแทนของจริงได้
                                                              5.3) ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้
                                                6) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
                                                7) การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)
                4.3. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของกาเย
                                แม้กาเย จะมิใช่นักจิตวิทยากลุ่มพุทธินิยมโดยตรง แต่ผลงานของเขาส่วนใหญ่ได้เน้นให้เห็นถึงความเชื่อและแนวคิดของกลุ่มพุทธินิยม กาเยใช้โมเดลการเรียนรู้สะสมเป็นตัวอธิบายความเจริญทางสติปัญญาและพัฒนาการของความสามารถใหม่ ๆ ที่มีผลมาจากการเรียนรู้
                                จากทัศนะของกาเย เด็กพัฒนาเนื่องจากว่า เขาได้เรียนรู้กฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ พฤติกรรมที่อาศัยกฎที่ซับซ้อนเกิดขึ้นเพราะเด็กได้มีกฎง่าย ๆ ที่จำเป็นมาก่อน ในระยะเริ่มแรกเด็กจะได้รับนิสัยง่าย ๆ ที่ช่วยทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งกลไกพื้นฐาน และการตอบสนองทางคำพูด ต่อมาก็จะเป็นการจำแนกความคิดรวบยอดเป็นกฎง่าย ๆ และในที่สุดก็จะเป็นกฎที่ซับซ้อน
                                การพัฒนาทางสติปัญญา จึงได้แก่การสร้างความสามารถในการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระยะหรือขั้นของการพัฒนาการดูเหมือนว่าจะสัมพันธ์กับอายุของเด็ก เนื่องจากการเรียนรู้ต้องใช้เวลา มีข้อจำกัดทางสังคมเป็นตัวกำหนด หรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราความเร็วในการให้ความรู้และข่าวสารแก่เด็ก สำหรับกาเยแล้ว ความสามารถในการเรียนรู้อาจต้องรอการฝึกฝนที่เหมาะสม
                                การถ่ายทอดในแนวตั้งและแนวนอน กาเยได้แบ่งวิธีการที่ประสบการณ์เดิมถ่ายโอนผลของมันไปสู่พฤติกรรมในอนาคตเป็น 2 วิธี
                                                1) การถ่ายโอนในแนวนอน ซึ่งได้แก่ ปฏิสัมพันธ์ของเนื้อหาที่เรียนรู้จากสาขาหนึ่งกับวิธีการใหม่ ๆ ที่ใช้กับสาระในสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น นักปรัชญาที่คุ้นเคยกับการนำไปสู่ความไม่มีเหตุผล (Reduction to Absurdity) ในลักษณะที่เป็นสื่อในการพิสูจน์ข้อความต่าง ๆ (ว่าไม่ถูกต้อง) สามารถที่จะนำความรู้นี้ไปใช้กับการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ที่เขาเผชิญได้
                                                2)  การถ่ายโอนในแนวตั้ง ได้แก่ การเรียนความรู้บางอย่างมาก่อนที่มีความจำเป็นต่อการเรียนความรู้อื่นๆ ในสาขาวิชาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การจะเรียนการคูณโดยไม่มีความรู้ในเรื่องการบวกมาก่อนจะยากมาก
                5.ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning)
                                เดวิด ออซูเบล เชื่อว่า การเรียนรู้จะมีความหมายแก่ผู้เรียน หากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รู้มาก่อน (Asubel,1963:77-97) 
ทฤษฎีของออซูเบล  เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมีความหมาย  การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รวม  หรือเชื่อมโยง  (Subsume)   สิ่งที่เรียนรู้ใหม่ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอด Concept หรือความรู้ที่ได้รับใหม่ในโครงสร้างทางสติปัญญา (Cogmitive  Sttructure)  กับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองผู้เรียนอยู่แล้ว  ทฤษฎีของออซูเบล  บางครั้งเรียกว่า  Subsumption  Theory
                                ออซูเบล  บ่งว่า  ผู้เรียนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยการรับหรือการค้นพบและวิธีที่เรียนอาจจะเป็นการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจอย่างมีความหมายหรือเป็นการเรียนรู้โดยการท่องจำโดยไม่คิด  ออซูเบล  จึงแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น  4  ประเภท   ดังต่อไปนี้
1.       การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย    (Meaningful  Reception  Leaning)
2.       การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำโดยไม่คิดหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง (Rote   Reception  Leaning)
3.       การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิด  หรือแบบนกแก้วนกขุนทอง (Meaningful  Discovery  Leaning) 
4.  การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิด  หรือแบบนกแก้วนกขุนทอง (Rote  Discovery   Leaning)
ออซูเบลสนใจที่จะหากฎเกณฑ์และวิธีการสอนการเรียนรู้อย่างมีความหมาย  ไม่ว่าจะเป็นโดยการรับหรือค้นพบ  เพราะออซูเบลคิดว่าการเรียนรู้ในโรงเรียนส่วนมากเป็นการท่องจำโดยไม่คิดจะขออธิบายเพียงการเรียนรู้อย่างมีความหมายทั้งโดยการรับและค้นพบ
                (http://www.isu.ob.tc/5.3.html) ได้รวบรวมแล้วกล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพุทธินิยมนี้ให้ความสำคัญกับความสามารถในการตั้งวัตถุประสงค์ การวางแผน ความตั้งใจ ความคิด ความจำ การคัดเลือก การให้ความหมายกับสิ่งเร้าต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มพฤติกรรมนิยมแล้วเห็นว่ามีความแตกต่างกันดังนี้กลุ่มพฤติกรรมนิยม : อินทรีย์สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองอันก่อให้เกิดความพึงพอใจ
              ทฤษฎีการหยั่งรู้  นี้เป็นการศึกษาทดลองของนักจิตวิทยาชาวเยอรมันซึ่งเยกว่ากลุ่มเกสตอล (Gestalt)  ซึ่งประกอบด้วย นักจิตวิทยาที่สำคัญ  3  คน คือ เวอร์ไทเมอร์  คอฟฟ์ก้าและเคอเลอร์ คำว่า  เกสตอล  (Gestalt)  หมายถึง  แบบแผนหรือภาพรวม  โดยนักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้ให้ความสำคัญกับส่วนรวม หรือผลรวมมากว่า ส่วนย่อย  ในการศึกษาวิจัยพบว่าการรับรู้ของคนเรามักจะรับรู้ส่วนรวมมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อย  ในการเรียนรู้ และการแก้ปัญหา ก็เช่นเดียวกัน  คนเรามักจะเรียนอะไรได้เข้าใจก็ต้องศึกษาภาพรวมก่อน  หลังจากนั้นจึง พิจารณา รายละเอียดปลีกย่อย จะทำให้เกิดความเข้าใจ ในเรื่องนั้นได้ชัดเจนขึ้น
            การทดลองของกลุ่มการเรียนรู้ด้วยการหยั่งรู้  ผลการทดลองสรุปได้ว่า  โดยปกติแล้วคนเราจะมีวิธีการเรียนรู้แลการแก้ปัญหา  โดยอาศัยความคิดและประสบการณ์ เดิมมากว่ากาลองผิดลองถูก  เมื่อ
เมื่อสามารถแก้ปัญหาในลักษณะนั้นได้แล้ว  เมื่อเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันที ลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ เพราะมนุษย์สามารถจัดแบบ (Pattern)  ของความคิดใหม่เพื่อใช้ใน การแก้ปัญหาที่ตนเผชิญอยู่ได้อย่างเหมาะสม หลักการรับรู้ของมนุษย์ เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้มีผลให้นักการศึกษานำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก  ทั้งนี้เพราะการรับรู้เป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ 
การรับรู้ของมนุษย์มีลักษณะเป็นอัตนัย  (Subjective)  และเห็นความสำคัญของส่วนรวมมากกว่า รายละเอียดปลีกย่อย
กฎการรับรู้ที่สำคัญมี   4  ข้อ ดังนี้
1. กฎแห่งความใกล้ชิด   (Proximity)  สิ่งเร้าที่อยู่ใกล้กัน มักจะถูกรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน 
2. กฎแห่งความคล้าย (Similarity) สิ่งเร้าที่มองดูคล้ายกันจะถูกจัดว่าเป็นพวกเดียวกัน
3. กฎแห่งความสมบูรณ์ (Closure)  สิ่งเร้าที่มีบางส่วนบกพร่องไปคนเราจะรับรู้โดยเติมส่วนที่ขาดหายไปให้เป็นภาพ หรือเป็นเรื่องที่สมบูรณ์
4. กฎแห่งการต่อเนื่องที่ดี (Good Continuation) สิ่งเร้าที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างดี จะถูกรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน 
          ทฤษฎีการเรียนรู้โดยการประมวลสารสนเทศ (Information Processing  Model  of  Learning) 
            นักจิตวิทยาในกลุ่มพุทธินิยมมีความสนใจว่า มนุษย์มีวิธีการรับรู้ข้อมูลใหม่อย่างไร  เมื่อได้ความรู้แล้วมีวีการจำอย่างไร  สิ่งที่เรียนรู้แล้วจะมีผลต่อการเรียนข้อมูลใหม่อย่างไร  ด้วยความสนใจดังกล่าวจึงได้ทำ การทดลองและตั้งเป็น ทฤษฎีการเรียนรู้โดย การประมวลสารสนเทศขึ้น  ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังได้รับความสนใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากในวงการศึกษา
ขั้นตอนการเรียนรู้
ภาพแสดงขั้นตอนการเรียนรู้โดยการประมวลสารสนเทศ
สิ่งเร้า (Environmental Stimuli) คือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ในขณะนั้น สิ่งเร้าในแต่ละขณะจะมีมากมาย แต่จากการศึกษาวิจัยของ นักจิตวิทยาเรื่องกระบวนการรับสัมผัสพบว่ามนุษย์มีความสามารถในการรับรู้ข้อมูลต่างๆ ในแต่ละครั้งอย่างมากที่สุด ได้ประมาณ 11-12 ชั่วโมง
ระบบบันทึกการรับรู้ (Sensory Register) คือ หน่วยบันทึกความจำหน่วยแรกของมนุษย์ ข้อมูลในขณะนี้เป็น ข้อมูลชนิดเดียวกับ ที่ได้รับรู้มา ระยะของความจำจะมีประมาณ 1-3 วินาที เพื่อให้บุคคลตัดสินใจว่า มีความสนใจในข้อมูลนั้นหรือไม่ ข้อมูลที่ไม่ต้องการ ก็จะสูญหายไปส่วนข้อมูลที่ต้องการก็จะเข้าสู่ความจำระยะสั้นต่อไป
ความใส่ใจ (Attention) ในขั้นนี้จะเป็นการคัดเลือกข้อมูลต่างๆ ที่สนใจเข้าสู่ความจำระยะสั้น ในช่วงนี้เรื่องสมาธิ ค่อนข้างมีความสำคัญมาก
การรู้จัก (Recognition) ในขั้นนี้จะเป็นการเก็บรายละเอียดของลักษณะข้อมูลที่สำคัญและนำมาสร้างความสัมพันธ์กับข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว
ความจำระยะสั้น (Short-term Memory) เป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนรู้เพราะเป็นความจำที่สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้ (Working Memory) ตัวอย่างเช่น การจำหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการใช้ในขณะนั้น การจำในขั้นนี้เหมือนกับการเก็บแฟ้มข้อมูล (File) ซึ่งมนุษย์สามารถเก็บ(จำ) เรื่องต่างๆ ได้ประมาณ 7 เรื่อง ในระยะเวลา 20 วินาที เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ข้อมูลที่ได้รับเข้ามาใหม่ อาจจะรวมกับข้อมูลเดิมหรือ ข้อมูลเดิมถูกลบออกจนหมดสิ้น
การขยายความคิด (Elaborative Rehearsal) เมื่อเกิดความจำระยะสั้นแล้ว ต้องนำข้อมูลนั้นมาขยายความคิด โดยการจัดหมวดหมู่และให้ความหมายกับข้อมูลเพื่อนำไปสู่ความจำระยะยาว
ความจำระยะยาว (Long-term Memory) เป็นสุดยอดปรารถนาของการเรียนรู้ข้อมูล ซึ่งจะต้องมีการจัดระเบียบอย่างดี โดยการแปล ความหมาย สร้างความ สัมพันธ์เชื่อมโยงข้อมูล ข้อมูลใดที่ยังขาดความสัมพันธ์กัน หรือมีช่องว่างอยู่ก็จะต้อง พยายามขจัด ช่องว่างโดย การใช้หลักทางตรรกศาสตร์คือการหาเหตุผลและสร้างความสัมพันธ์
ระบบควบคุม (Control Process) มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นตัวควบคุมและเชื่อมโยงความจำระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งเป็น ตัวกำหนดปริมาณและคุณภาพของข้อมูลที่ผู้เรียนจำและสามารถนำออกไปใช้ได้
การนำมาใช้บ่อยๆ (Maintenance Rehearsal) การนำข้อมูลมาใช้บ่อยๆ เพื่อเป็นการย้ำในขั้นการจำระยะสั้น และเพื่อใช้สำหรับ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
     องค์ประกอบของการเรียนรู้ มีอยู่ 4 ประการ คือ
1. คุณลักษณะของผู้เรียน (Learner Characteristics) คือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน เช่น ความรู้เดิม ทัศนคติ แรงจูงใจ รูปแบบความคิด เป็นต้น
2. กิจกรรมของผู้เรียน (Learner Activities) ในส่วนนี้จะเกี่ยวกับขบวนการใช้สมองของผู้เรียน ในขณะเกิดการเรียนรู้ โดยพิจารณาว่า ผู้เรียนจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี เช่น นั่งฟังคำบรรยายด้วยความสนใจ จดโน้ตตาม ขีดเส้นใต้ข้อความที่สำคัญ เป็นต้น
3. ธรรมชาติของสิ่งที่เรียน (Nature of the Learning Material) คือข้อมูลนั้นเป็นข้อมูล ประเภทใด เนื้อหาของข้อมูลนั้น มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม มีการจัดเรียงลำดับเนื้อหาดีมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
4. วิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน (Nature of the Criterion) คือลักษณะต่างๆ ที่ผู้เรียน แสดงออกมา เมื่อเรียนรู้แล้ว เช่น ตอบข้อเขียนได้ถูกต้อง สอบปากเปล่าได้ แสดงทักษะต่างๆ ให้ปรากฏ เป็นต้น
การเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดของตนเอง (Metacognition) การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อ ผู้เรียนควบคุมตนเองได้ (Self-Reguletion) ลักษณะดังกล่าวนี้ ฟลาแวล ได้เป็นผู้อธิบายไว้โดยเน้นถึง กระบวนการเรียนรู้ ที่จะต้องอาศัย ความสามารถทางปัญญา โดยเขาใช้คำว่า “Metacognition” เพื่ออธิบายว่าผู้เรียนจะต้องรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิด (Thinking Process) ของตนเอง ถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มการเรียนรู้โดยการประมวลสารสนเทศ คำว่า Metacognition นี้จะเปรียบเทียบได้กับระบบควบคุม (Control Process) ซึ่งความรู้ในลักษณะนี้จะทำให้ผู้เรียนมีความกระจ่าง คือ รู้ว่าจะทำอะไร (What) ทำอย่างไร (How) และทำเมื่อไร (When)

                กล่าวโดยสรุป   ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพุทธินิยมนี้ให้ความสำคัญกับความสามารถในการตั้งวัตถุประสงค์ การวางแผน ความตั้งใจ ความคิด ความจำ การคัดเลือก การให้ความหมายกับสิ่งเร้าต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มพฤติกรรมนิยมแล้วเห็นว่ามีความแตกต่างกันดังนี้กลุ่มพฤติกรรมนิยม : อินทรีย์สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองอันก่อให้เกิดความพึงพอใจ


               
เอกสารอ้างอิง
                ทิศนา  แขมมณี (2553) .ศาสตร์การสอน:องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.
                                จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.กรุงเทพฯ
                                http://www.novabizz.com/Learning_Cognitive.htm   เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554
                                http://www.isu.ob.tc/5.3.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น