วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

นวัตกรรมทางการสอนคณิตศาสตร์
นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์
ทฤษฎีการเรียนรู้
             ทฤษฎีการเรียนรู้ (learning theory) การเรียนรู้ คือ กระบวนการที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด คนสามารถเรียนได้จากการได้ยินการสัมผัส การอ่าน การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่จะต่างกัน เด็กจะเรียนรู้ด้วยการเรียนในห้อง การซักถาม ผู้ใหญ่มักเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่ แต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้สอนนำเสนอ โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนจะเป็นผู้ที่สร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาที่ เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ที่จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปแบบใดก็ได้เช่น ความเป็นกันเอง ความเข้มงวดกวดขัน หรือความไม่มีระเบียบวินัย สิ่งเหล่านี้ผู้สอนจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไข และสถานการณ์เรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการสอน รวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน
นวัตกรรม
            “นวัตกรรม (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ ”การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com)
              คำว่า นวัตกรรม เป็นคำที่ค่อนข้างจะใหม่ในวงการศึกษาของไทย คำนี้ เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation มาจากคำกริยาว่า innovateแปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ในภาษาไทยเดิมใช้คำว่านวัตกรรม” ต่อมาพบว่าคำนี้มีความหมายคลาดเคลื่อน จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า นวัตกรรม (อ่านว่า นะ วัด ตะ กำหมายถึงการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าวงการหรือกิจการใด ๆ ก็ตาม เมื่อมีการนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม ของวงการนั้น ๆ เช่นในวงการศึกษานำเอามาใช้ ก็เรียกว่า “นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation) สำหรับผู้ที่กระทำ หรือนำความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มาใช้นี้ เรียกว่าเป็น “นวัตกร” (Innovator) (boonpan edt01.htm)
นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
             
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
             
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
             
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์
             นวัตกรรม คือ การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาก่อให้เกิดประโยชน์ และมีคุณค่า นั้นคือ นิยาม ของ นวัตกรรม คือ ของใหม่ และ มีประโยชน์
ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษา
              ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษาที่นิยมนำมาใช้ในการแก้ปัญหา/พัฒนาการเรียนการสอน
อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
              1. สื่อการเรียนการสอน อาทิ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนวีซีดี บทเรียนซีดีบทเรียนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ บทเรียนการ์ตูน แบบฝึกทักษะ ฯลฯ
              2. รูปแบบ/วิธีการเรียนการสอนแบบต่างๆ อาทิ วิธีการสอนแบบร่วมมือร่วมใจวิธีการสอนแบบซิปปา (CIPPA Model) วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง วิธีการสอนฝึกกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
              3. หลักสูตรแบบต่างๆ อาทิ หลักสูตรสาระเพิ่มเติม หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรฝึกอบรม หลักสูตรวิชาชีพต่างๆ ฯลฯ
              4. กระบวนการบริหารแบบต่างๆ อาทิ การบริหารเชิงระบบ การบริหารแบบธรรมาภิบาลการบริหารการจัดการความรู้ การบริหารแบบกัลยาณมิตร การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ฯลฯ
              นวัตกรรมทางการเรียนการสอน หมายถึง กระบวนการ เทคนิค วิธีการ แนวคิด หลักปฏิบัติ เครื่องมือหรือสิ่งใหม่ๆ ที่ได้ผ่านการทดลองและพัฒนาอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ แล้วนำมาใช้ในการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการเรียนการสอน
              สื่อการสอน ก็คือ ตัวกลางสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงกระบวนการเรียนการสอนของเราให้มี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น...สื่อการสอนไม่จำเป็นต้องเป็นวัสดุหรืออุปกรณ์เสมอ ไป แต่มันอาจเป็นตัวหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้เรียนรู้สึกกระตุ้น สนใจที่จะเรียนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการสร้างบรรยากาศของห้องใหม่ที่ดี เปลี่ยนสไตล์การสอน ทำกิจกรรม อย่างนี้เป็นต้น

               ประเภทสื่อการสอน
               1. ประเภทวัสดุ ( Material or Software ) เป็นสื่ออยู่ในรูปของภาพ เสียง หรือตัวอักษร แยกได้เป็น 2 ชนิด คือ
               1.1 ชนิดที่สามารถสื่อความหมายได้ด้วยตัวของมันเอง เช่น รูปภาพ แผนภูมิ ภาพวาด หนังสือ
               1.2 ชนิดที่ต้องอาศัยเครื่องมือเสนอเรื่องราวไปสู่ผู้เรียน เช่น ภาพโปร่งแสง สไลด์ แถบบันทึกเสียง ฟิล์มภาพยนตร์ เป็นต้น
                2. ประเภทเครื่องมือ (Hardware or Equipment) หมายถึง เครื่องมือที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความรู้ไปสู่ผู้เรียน เช่น เครื่องฉายชนิดต่าง ๆ เครื่องเสียงชนิดต่าง ๆ เครื่องรับและส่งวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งต้องอาศัยวัสดุประกอบเช่น ฟิล์มแถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ เป็นต้น
                3. ประเภทเทคนิคหรือวิธีการ (Technique or Method) หมายถึง เทคนิคหรือวิธีการที่จะใช้ร่วมกับวัสดุและเครื่องมือ หรือใช้เพียงลำพังในการจัดการเรียนการสอนได้แก่ การสาธิต การทดลอง การแสดงละคร การจัดนิทรรศการ เป็นต้น

                 ผู้เรียนจะบรรลุจุดประสงค์การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้สอนจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ และจะต้องมีเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อนำสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ไปสู่ผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือมีการใช้สื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจ
                 บทบาทของสื่อการสอน คือ สื่อจะทำให้ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น เพราะมีความหลากหลาย และน่าสนใจ สื่อยังเป็นสิ่งที่ใช้พัฒนาผู้เรียนได้ ทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ เรียนรู้อย่างชัดเจน และทำให้ผู้เรียนสนใจเรียนมากขึ้นด้วย
>>ที่มาบทความ:http://goo.gl/pcF92j
http://kamonwan2259.blogspot.com/2015/08/blog-post.html

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง

         การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง
         ในปัจจุบันการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาอะไรก็ตามล้วนแต่จะให้ความรู้และประโยชน์กับตัวผู้ศึกษาทั้งสิ้น ซึ่งการศึกษาในระดับโรงเรียนระดับมหาลัยจะขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยตัวเลข การให้เหตุผล ในหลักสูตรการศึกษาก็จะให้วิชาคณิตศาสตร์นั้นเป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียน  การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในปัจจุบันก็พบว่ามีปัญหามากมายทั้งเด็กไม่เชื่อฟังขณะครูสอน นักเรียนขาดพื้นฐาน อุปกรณ์ไม่เอื้อต่อการเรียนการสอน เป็นต้น แต่สิ่งที่ผู้เรียนคณิตศาสตร์มักจะถามกันเป็นประจำก็คือ เรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม เนื้อหาที่เรียนนั้นเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลต่อเจตคติของผู้เรียน บทความนี้จึงขอกล่าวถึงการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ หมายถึง กระบวนการที่นำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์มาสัมพันธ์กันเพื่อใช้ในการเรียนรู้เนื้อหาใหม่หรือใช้ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ต่างๆที่กำหนดให้ โดยแบ่งเป็นการเชื่อมโยงความรู้ในเนื้อหาต่างๆทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งการเรียนการสอนคณิตศาสตร์สามารถนำสถานการณ์ในชีวิตจริงมาจัดการเรียนการสอนได้  
การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันเป็นการผสมผสานความรู้ ความคิด วิธีการทางคณิตศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง ตลอดจนเป็นการนำความรู้ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์หรือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจาวันนั่นเอง
การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงหรือชีวิตประจำวันมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการเชื่อมโยงความรู้จะทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์จริงได้ อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงจะสามาถทำให้นักเรียนนั้นเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์อีกด้วย
การจัดกิจกรรรมการเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน สามารถทำได้โดยการนำเนื้อหาที่กำหนดมาสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันหรือนำเอาสถานการณ์ในชีวิตประจำวันมาเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ โดยเริ่มจากการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของนักเรียนก่อนโดยครูอาจสร้างสถานการณ์ปัญหาหรือโจทย์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงฝึกการคิดโดยใช้กระบวนการกลุ่ม ใช้คำถามกระตุ้นการคิด แล้วให้นักเรียนนำความรู้ ความเข้าใจและทักษะที่ได้จากการเรียนมาเสนอให้เพื่อนทราบ ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายสถานการณ์/กิจกรรมที่ได้ปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนคณิตศาสตร์ที่มีต่อชีวิตประจำวัน และเกิดความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น 
จากข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงคือ การนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันโดยการเรียนการสอนจะต้องจัดสถานการณ์ที่เป็นสถานการณ์จริงเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงการเชื่อมโยง การนำคณิตศาสตร์ไปใช้ และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสำคัญของคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
กรมวิชาการ. (2544). คู่มือการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ องค์การส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
              นงลักษณ์ แก้วมาลา. (2547). ชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการเชื่อมโยง เรื่องการแก้ปัญหาโดยใช้ทฤษฎีบทพีทาโกรัสและบทกลับ
               สาหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. สารนิพนธ์ กศ.ม. (การมัธยมศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
นภดล กมลวิลาศเสถียร. (2550). เทคนิคช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:บริษัทรักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด.


วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญและประโยขน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง

ความสำคัญและประโยขน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง
สมาคมครูคณิตศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เหตุผลที่สนับสนุนการเชื่อมโยงวิชาหนึ่งกับ
วิชาอื่น ๆ ในการสอน เช่น การเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ การเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับสังคมศึกษา การเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับศิลปะ ฯลฯ ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ได้จำกัดว่าจะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น การเกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียว แต่ก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เช่น บ้านเรือนเสียหาย ธุรกิจหยุดชะงัก โรงเรียนและสถานที่ทำงานต่าง ๆ ต้องหยุดทำงาน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหลายประการ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เราจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะจากหลาย ๆ วิชามาร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างความคิดรวบยอดในศาสตร์ต่างๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย การเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นว่า ความคิดรวบยอดจะต้องแยกจากความคิดรวบยอดในวิชาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
วิชาคณิตศาสตร์ หรือสังคมศึกษา การสอนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดรวบยอดจากหลาย ๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกัน มีประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of learning) ระหว่างสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับชีวิตจริงได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเรียนมีประโยชน์หรือพร้อมที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ (The National Council of Teachers of Mathematics, 1991: Online)
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California อ้างใน นงลักษณ์ แก้วมาลา,2547) ได้กล่าวว่าการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสถาบันการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม จึงควรมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เรียนไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกการเชื่อมโยงในการแก้ปัญหา ฝึกสำรวจสิ่งต่าง ๆ พร้อมทั้งเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน
รีด (Reed, 1995: Online) ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันไว้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ นั้นจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียนมองเห็นความสำคัญของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และยังช่วยให้นักเรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์


บลาสคอพ และชาซัน (Blaskopf & Chazan อ้างใน อเนก มีสุทธิเดช, 2548)) ได้กล่าวว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันนั้นมีความสำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนตระหนักว่าคณิตศาสตร์เป็นจริง มีความหมาย และมีประโยชน์สำหรับทุกคน ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในคณิตศาสตร์มากขึ้น ความสำคัญและประโยชน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเห็นการนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของคณิตศาสตร์ มองว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมและจำเป็นต่อชีวิต เป็นผลให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2542, หน้า 1) ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อมโยงความรู้กับแหล่งเรียนรู้ในชีวิตจริงของนักเรียนไว้ว่า การที่จะทำให้เด็กเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้นั้น จะต้องเริ่มจากต้นทุนที่เป็นฐานความรู้ที่นักเรียนมีอยู่ เชื่อมโยงไปสู่แหล่งเรียนรู้ไกลตัวในโลกกว้างจากแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด คือ แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นหรือชีวิตจริงของนักเรียน ฉะนั้น บทบาทสำคัญยิ่งของครู คือ การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น และเชื่อมโยงต่อสู่ความรู้ที่เป็นสากล ซึ่งความจำเป็นในการเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่นได้แก่
1. ในท้องถิ่นมีสิ่งดีดีมากมายที่ถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง
2. ท้องถิ่นเป็นที่ที่นักเรียนส่วนใหญ่อาศัยตลอดชีวิต
3. นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศและของโลกมากมาย หลายเรื่องที่ไม่มีโอกาสได้นำมาใช้ประโยชน์ นอกจากใช้เพื่อการสอบ
4. การให้นักเรียนได้เรียนรู้ประเด็นในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ได้เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับกับท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล ย่อมช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความหมาย
5. ถ้าให้นักเรียนได้นำความรู้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์ พัฒนาท้องถิ่นด้วยแล้วจะเกิดประโยชน์มากมาย
ชยาภรณ์ รักพ่อ (2551, หน้า 9) ได้กล่าวว่า ความสำคัญและประโยชน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยให้นักเรียนเห็นการนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของคณิตศาสตร์ มองว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมและจำเป็นต่อชีวิตของเขา เป็นผลให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น
กรมวิชาการ (2544, หน้า 2122) ได้กล่าวถึงการพัฒนาทักษะกระบวนการเชื่อมโยงทาง
คณิตศาสตร์ไว้ว่า การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาสาระหลายเรื่องและหลายหัวข้อการที่จะเรียนคณิตศาสตร์ให้เกิดความรู้และเป็นพื้นฐานในการที่จะนำไปศึกษาต่อนั้นจำเป็นต้องบูรณาการเนื้อหาในวิชาคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น การใช้ความรู้เรื่องการวัดนำไปใช้ในการหาความยาวรอบรูปและพื้นที่ตลอดจนการเขียนแผนผัง นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาต่างๆ ในคณิตศาสตร์ด้วยกันแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆโดยใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และใช้ในการแก้ปัญหา เช่น งานศิลปะและการออกแบบบางชนิดก็ใช้ความรู้เกี่ยวกับรูปเรขาคณิต นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในวิชาชีพบางอย่างโดยตรง เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า งานคหกรรมเกี่ยวกับอาหาร งานเกษตรงานออกแบบสร้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆรวมถึงการนำคณิตศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน เช่น การซื้อขาย การชั่ง ตวง วัด การคำนวณระยะทางและเวลาที่ใช้ในการเดินทาง การวางแผนในการออมเงินไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

          จากข้อมูลในข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงหรือชีวิตประจำวันมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการเชื่อมโยงความรู้จะทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์จริงได้ อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงจะสามาถทำให้นักเรียนนั้นเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์อีกด้วย
อ้างอิง
นงลักษณ์ แก้วมาลา. (2547). ชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการเชื่อมโยง เรื่อง
การแก้ปัญหาโดยใช้ทฤษฎีบทพีทาโกรัสและบทกลับ สาหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2. สารนิพนธ์ กศ.ม. (การมัธยมศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ.
กรมวิชาการ. (2544). คู่มือการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ องค์การส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
Reed, M. K. (1995). Making Mathematical Connections in the Early Grades. ERIC Digest.
Retrieved January , 24 2010. from: http://www.ericdigests.org/1996-1/making.htm.

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน
คณิตศาสตร์กับความเป็นจริงในการดำรงชีวิตประจำวันสามารถเชื่อมโยงกันได้หลากหลายแนวทาง ซึ่งแฟรงค์ ลิสเตอร์ (อ้างในเบ็ญจา โสตรโยม, 2542, หน้า 29-30) ได้กล่าวว่า โลกของคณิตศาสตร์และโลกของความเป็นจริงถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ การแก้ปัญหาในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์นั้น โจทย์ปัญหาที่กำหนดให้จะเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงที่ผู้เรียนพบในชีวิตประจำวัน นักเรียนจะต้องเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมแล้วแสดงออกมาในลักษณะรูปธรรม ในทำนองเดียวกันการแก้ปัญหาในชีวิตประจาวันก็ย่อมต้องใช้ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้แก้ปัญหาจะแก้ปัญหาใด ๆ ได้ย่อมต้องมีโลกของคณิตศาสตร์และโลกแห่งความจริง
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2539) ได้อธิบายลักษณะของการใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันว่าเป็นความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปใช้ในสถานการณ์หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้
นภดล กมลวิลาศเสถียร (2550, หน้า 164) กล่าวเกี่ยวกับคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเราตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การทำอาหาร การซื้อของไปจนถึงเรื่องระดับโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส คณิตศาสตร์สามารถช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้นและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น นักเรียนควรได้ฝึกใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตจริงอยู่เป็นประจำเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันเป็นการผสมผสานความรู้ ความคิด วิธีการทางคณิตศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง ตลอดจนเป็นการนำความรู้ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์หรือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจาวันนั่นเอง
อ้างอิง
เบ็ญจา โสตรโยม. (2542). การเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยการเรียนแบบรอบรู้. เชียงใหม่: คณะ
ศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สานักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. (2539). แนวการจัดกิจกรรมสร้าง สมรรถภาพ ทางคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
นภดล กมลวิลาศเสถียร. (2550). เทคนิคช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
บริษัทรักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด.

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์

ความหมายของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์
สมาคมครูคณิตศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The National of Teachers of Mathematics.
1991: Online) ได้ให้ความหมายของการเชื่อมโยง (Connection skill) ไว้ว่า การเชื่อมโยง หมายถึงการผสมผสานแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกันให้รวมกันเป็นองค์ประกอบเดียวกัน โดยการเชื่อมโยงมีลักษณะดังนี้
1. การเชื่อมโยงภายในวิชา เป็นการนำเนื้อหาภายในวิชาเดียวกันไปสัมพันธ์กันให้นักเรียนได้ประยุกต์ความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริง ช่วยนักเรียนให้ทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของเนื้อหาวิชา รวมทั้งพีชคณิต เรขาคณิต และตรีโกณมิติ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีความหมาย
2. การเชื่อมโยงระหว่างวิชา เป็นการรวมศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 สาขา ขึ้นไป ภายใต้หัวข้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกันให้มาสัมพันธ์กัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์กับวิชาวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์สังคม กีฬา หรือศิลปะ เป็นการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในวิชาต่าง ๆ มากกว่า 1 วิชาขึ้นไป จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และตรงสภาพชีวิตจริง
กรมวิชาการ (2544, หน้า 203) ได้กล่าวเกี่ยวกับทักษะกระบวนการการเชื่อมโยงไว้ว่าในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ต้องการให้นักเรียนมีความรู้และมีพื้นฐานในการที่จะนำไปศึกษาต่อนั้น จำเป็นที่จะต้องบูรณาการเนื้อหาต่างๆในวิชาคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น การใช้ความรู้เรื่องเซตในการให้คำจำกัดความหรือบทนิยามในเรื่องต่างๆ เช่น บทนิยามเรื่องฟังก์ชันในรูปของเซต บทนิยามของลำดับในรูปของฟังก์ชัน นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาต่างๆ ในคณิตศาสตร์ด้วยกันแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆโดยใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และใช้ในการแก้ปัญหา เช่น งานศิลปะและการออกแบบบางชนิดก็ใช้ความรู้เกี่ยวกับรูปเรขาคณิต นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในวิชาชีพบางอย่างโดยตรง เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า งานคหกรรมเกี่ยวกับอาหาร งานเกษตร งานออกแบบสร้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆรวมถึงการนำคณิตศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน เช่นการซื้อขาย การชั่ง ตวง วัด การคำนวณระยะทางและเวลาที่ใช้ในการเดินทาง การวางแผนในการออมเงินไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( 2550 , หน้า 83 ) กล่าวว่าการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์เป็นกระบวนการที่อาศัยการคิดวิเคราะห์ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการนำความรู้ หลักการทางคณิตศาสตร์มาสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลระหว่างความรู้ และทักษะ/กระบวนการที่มีในเนื้อหาคณิตศาสตร์กับงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการเรียนรู้แนวคิดใหม่ที่มีความซับซ้อนขึ้น

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ หมายถึง กระบวนการที่นำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์มาสัมพันธ์กันเพื่อใช้ในการเรียนรู้เนื้อหาใหม่หรือใช้ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ต่างๆที่กำหนดให้ โดยแบ่งเป็นการเชื่อมโยงความรู้ในเนื้อหาต่างๆทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งการเรียนการสอนคณิตศาสตร์สามารถนำสถานการณ์ในชีวิตจริงมาจัดการเรียนการสอนได้
อ้างอิง
กรมวิชาการ. (2544). คู่มือการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ องค์การส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2550).ทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์.กรุงเทพฯ:ม.ป.ท.