วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน
คณิตศาสตร์กับความเป็นจริงในการดำรงชีวิตประจำวันสามารถเชื่อมโยงกันได้หลากหลายแนวทาง ซึ่งแฟรงค์ ลิสเตอร์ (อ้างในเบ็ญจา โสตรโยม, 2542, หน้า 29-30) ได้กล่าวว่า โลกของคณิตศาสตร์และโลกของความเป็นจริงถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ การแก้ปัญหาในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์นั้น โจทย์ปัญหาที่กำหนดให้จะเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงที่ผู้เรียนพบในชีวิตประจำวัน นักเรียนจะต้องเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมแล้วแสดงออกมาในลักษณะรูปธรรม ในทำนองเดียวกันการแก้ปัญหาในชีวิตประจาวันก็ย่อมต้องใช้ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้แก้ปัญหาจะแก้ปัญหาใด ๆ ได้ย่อมต้องมีโลกของคณิตศาสตร์และโลกแห่งความจริง
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2539) ได้อธิบายลักษณะของการใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันว่าเป็นความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปใช้ในสถานการณ์หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้
นภดล กมลวิลาศเสถียร (2550, หน้า 164) กล่าวเกี่ยวกับคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเราตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การทำอาหาร การซื้อของไปจนถึงเรื่องระดับโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส คณิตศาสตร์สามารถช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้นและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น นักเรียนควรได้ฝึกใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตจริงอยู่เป็นประจำเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันเป็นการผสมผสานความรู้ ความคิด วิธีการทางคณิตศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง ตลอดจนเป็นการนำความรู้ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์หรือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจาวันนั่นเอง
อ้างอิง
เบ็ญจา โสตรโยม. (2542). การเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยการเรียนแบบรอบรู้. เชียงใหม่: คณะ
ศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สานักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. (2539). แนวการจัดกิจกรรมสร้าง สมรรถภาพ ทางคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
นภดล กมลวิลาศเสถียร. (2550). เทคนิคช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
บริษัทรักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น