วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญและประโยขน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง

ความสำคัญและประโยขน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง
สมาคมครูคณิตศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เหตุผลที่สนับสนุนการเชื่อมโยงวิชาหนึ่งกับ
วิชาอื่น ๆ ในการสอน เช่น การเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ การเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับสังคมศึกษา การเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับศิลปะ ฯลฯ ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ได้จำกัดว่าจะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น การเกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์เดียว แต่ก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เช่น บ้านเรือนเสียหาย ธุรกิจหยุดชะงัก โรงเรียนและสถานที่ทำงานต่าง ๆ ต้องหยุดทำงาน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหลายประการ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เราจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะจากหลาย ๆ วิชามาร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างความคิดรวบยอดในศาสตร์ต่างๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย การเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นว่า ความคิดรวบยอดจะต้องแยกจากความคิดรวบยอดในวิชาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
วิชาคณิตศาสตร์ หรือสังคมศึกษา การสอนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงความคิดรวบยอดจากหลาย ๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกัน มีประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยให้เกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Transfer of learning) ระหว่างสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับชีวิตจริงได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเรียนมีประโยชน์หรือพร้อมที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ (The National Council of Teachers of Mathematics, 1991: Online)
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California อ้างใน นงลักษณ์ แก้วมาลา,2547) ได้กล่าวว่าการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสถาบันการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม จึงควรมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เรียนไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกการเชื่อมโยงในการแก้ปัญหา ฝึกสำรวจสิ่งต่าง ๆ พร้อมทั้งเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน
รีด (Reed, 1995: Online) ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันไว้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่น ๆ นั้นจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้นักเรียนมองเห็นความสำคัญของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และยังช่วยให้นักเรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์


บลาสคอพ และชาซัน (Blaskopf & Chazan อ้างใน อเนก มีสุทธิเดช, 2548)) ได้กล่าวว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันนั้นมีความสำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนตระหนักว่าคณิตศาสตร์เป็นจริง มีความหมาย และมีประโยชน์สำหรับทุกคน ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและเห็นคุณค่าในคณิตศาสตร์มากขึ้น ความสำคัญและประโยชน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเห็นการนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของคณิตศาสตร์ มองว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมและจำเป็นต่อชีวิต เป็นผลให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2542, หน้า 1) ได้กล่าวเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อมโยงความรู้กับแหล่งเรียนรู้ในชีวิตจริงของนักเรียนไว้ว่า การที่จะทำให้เด็กเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ได้นั้น จะต้องเริ่มจากต้นทุนที่เป็นฐานความรู้ที่นักเรียนมีอยู่ เชื่อมโยงไปสู่แหล่งเรียนรู้ไกลตัวในโลกกว้างจากแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด คือ แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นหรือชีวิตจริงของนักเรียน ฉะนั้น บทบาทสำคัญยิ่งของครู คือ การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น และเชื่อมโยงต่อสู่ความรู้ที่เป็นสากล ซึ่งความจำเป็นในการเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ท้องถิ่นได้แก่
1. ในท้องถิ่นมีสิ่งดีดีมากมายที่ถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง
2. ท้องถิ่นเป็นที่ที่นักเรียนส่วนใหญ่อาศัยตลอดชีวิต
3. นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศและของโลกมากมาย หลายเรื่องที่ไม่มีโอกาสได้นำมาใช้ประโยชน์ นอกจากใช้เพื่อการสอบ
4. การให้นักเรียนได้เรียนรู้ประเด็นในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ได้เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับกับท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล ย่อมช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความหมาย
5. ถ้าให้นักเรียนได้นำความรู้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์ พัฒนาท้องถิ่นด้วยแล้วจะเกิดประโยชน์มากมาย
ชยาภรณ์ รักพ่อ (2551, หน้า 9) ได้กล่าวว่า ความสำคัญและประโยชน์ของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน นอกจากจะช่วยให้นักเรียนเห็นการนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของคณิตศาสตร์ มองว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมและจำเป็นต่อชีวิตของเขา เป็นผลให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น
กรมวิชาการ (2544, หน้า 2122) ได้กล่าวถึงการพัฒนาทักษะกระบวนการเชื่อมโยงทาง
คณิตศาสตร์ไว้ว่า การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาสาระหลายเรื่องและหลายหัวข้อการที่จะเรียนคณิตศาสตร์ให้เกิดความรู้และเป็นพื้นฐานในการที่จะนำไปศึกษาต่อนั้นจำเป็นต้องบูรณาการเนื้อหาในวิชาคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น การใช้ความรู้เรื่องการวัดนำไปใช้ในการหาความยาวรอบรูปและพื้นที่ตลอดจนการเขียนแผนผัง นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาต่างๆ ในคณิตศาสตร์ด้วยกันแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆโดยใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และใช้ในการแก้ปัญหา เช่น งานศิลปะและการออกแบบบางชนิดก็ใช้ความรู้เกี่ยวกับรูปเรขาคณิต นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในวิชาชีพบางอย่างโดยตรง เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า งานคหกรรมเกี่ยวกับอาหาร งานเกษตรงานออกแบบสร้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆรวมถึงการนำคณิตศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน เช่น การซื้อขาย การชั่ง ตวง วัด การคำนวณระยะทางและเวลาที่ใช้ในการเดินทาง การวางแผนในการออมเงินไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

          จากข้อมูลในข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงหรือชีวิตประจำวันมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการเชื่อมโยงความรู้จะทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์จริงได้ อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงจะสามาถทำให้นักเรียนนั้นเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์อีกด้วย
อ้างอิง
นงลักษณ์ แก้วมาลา. (2547). ชุดกิจกรรมคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการเชื่อมโยง เรื่อง
การแก้ปัญหาโดยใช้ทฤษฎีบทพีทาโกรัสและบทกลับ สาหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2. สารนิพนธ์ กศ.ม. (การมัธยมศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ.
กรมวิชาการ. (2544). คู่มือการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ องค์การส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
Reed, M. K. (1995). Making Mathematical Connections in the Early Grades. ERIC Digest.
Retrieved January , 24 2010. from: http://www.ericdigests.org/1996-1/making.htm.

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน
คณิตศาสตร์กับความเป็นจริงในการดำรงชีวิตประจำวันสามารถเชื่อมโยงกันได้หลากหลายแนวทาง ซึ่งแฟรงค์ ลิสเตอร์ (อ้างในเบ็ญจา โสตรโยม, 2542, หน้า 29-30) ได้กล่าวว่า โลกของคณิตศาสตร์และโลกของความเป็นจริงถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ การแก้ปัญหาในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์นั้น โจทย์ปัญหาที่กำหนดให้จะเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงที่ผู้เรียนพบในชีวิตประจำวัน นักเรียนจะต้องเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมแล้วแสดงออกมาในลักษณะรูปธรรม ในทำนองเดียวกันการแก้ปัญหาในชีวิตประจาวันก็ย่อมต้องใช้ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้แก้ปัญหาจะแก้ปัญหาใด ๆ ได้ย่อมต้องมีโลกของคณิตศาสตร์และโลกแห่งความจริง
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2539) ได้อธิบายลักษณะของการใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันว่าเป็นความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปใช้ในสถานการณ์หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้
นภดล กมลวิลาศเสถียร (2550, หน้า 164) กล่าวเกี่ยวกับคณิตศาสตร์กับชีวิตจริงว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเราตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การทำอาหาร การซื้อของไปจนถึงเรื่องระดับโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส คณิตศาสตร์สามารถช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้นและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น นักเรียนควรได้ฝึกใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตจริงอยู่เป็นประจำเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันเป็นการผสมผสานความรู้ ความคิด วิธีการทางคณิตศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง ตลอดจนเป็นการนำความรู้ และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์หรือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจาวันนั่นเอง
อ้างอิง
เบ็ญจา โสตรโยม. (2542). การเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยการเรียนแบบรอบรู้. เชียงใหม่: คณะ
ศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สานักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. (2539). แนวการจัดกิจกรรมสร้าง สมรรถภาพ ทางคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
นภดล กมลวิลาศเสถียร. (2550). เทคนิคช่วยให้ลูกเก่งคณิตศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
บริษัทรักลูกแฟมิลี่กรุ๊ป จำกัด.

การเชื่อมโยงคณิตศาสตร์

ความหมายของการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์
สมาคมครูคณิตศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The National of Teachers of Mathematics.
1991: Online) ได้ให้ความหมายของการเชื่อมโยง (Connection skill) ไว้ว่า การเชื่อมโยง หมายถึงการผสมผสานแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกันให้รวมกันเป็นองค์ประกอบเดียวกัน โดยการเชื่อมโยงมีลักษณะดังนี้
1. การเชื่อมโยงภายในวิชา เป็นการนำเนื้อหาภายในวิชาเดียวกันไปสัมพันธ์กันให้นักเรียนได้ประยุกต์ความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริง ช่วยนักเรียนให้ทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของเนื้อหาวิชา รวมทั้งพีชคณิต เรขาคณิต และตรีโกณมิติ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีความหมาย
2. การเชื่อมโยงระหว่างวิชา เป็นการรวมศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 สาขา ขึ้นไป ภายใต้หัวข้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกันให้มาสัมพันธ์กัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์กับวิชาวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์สังคม กีฬา หรือศิลปะ เป็นการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในวิชาต่าง ๆ มากกว่า 1 วิชาขึ้นไป จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และตรงสภาพชีวิตจริง
กรมวิชาการ (2544, หน้า 203) ได้กล่าวเกี่ยวกับทักษะกระบวนการการเชื่อมโยงไว้ว่าในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ต้องการให้นักเรียนมีความรู้และมีพื้นฐานในการที่จะนำไปศึกษาต่อนั้น จำเป็นที่จะต้องบูรณาการเนื้อหาต่างๆในวิชาคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน เช่น การใช้ความรู้เรื่องเซตในการให้คำจำกัดความหรือบทนิยามในเรื่องต่างๆ เช่น บทนิยามเรื่องฟังก์ชันในรูปของเซต บทนิยามของลำดับในรูปของฟังก์ชัน นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาต่างๆ ในคณิตศาสตร์ด้วยกันแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆโดยใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และใช้ในการแก้ปัญหา เช่น งานศิลปะและการออกแบบบางชนิดก็ใช้ความรู้เกี่ยวกับรูปเรขาคณิต นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในวิชาชีพบางอย่างโดยตรง เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า งานคหกรรมเกี่ยวกับอาหาร งานเกษตร งานออกแบบสร้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆรวมถึงการนำคณิตศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน เช่นการซื้อขาย การชั่ง ตวง วัด การคำนวณระยะทางและเวลาที่ใช้ในการเดินทาง การวางแผนในการออมเงินไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( 2550 , หน้า 83 ) กล่าวว่าการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์เป็นกระบวนการที่อาศัยการคิดวิเคราะห์ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการนำความรู้ หลักการทางคณิตศาสตร์มาสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลระหว่างความรู้ และทักษะ/กระบวนการที่มีในเนื้อหาคณิตศาสตร์กับงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการเรียนรู้แนวคิดใหม่ที่มีความซับซ้อนขึ้น

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ หมายถึง กระบวนการที่นำความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์มาสัมพันธ์กันเพื่อใช้ในการเรียนรู้เนื้อหาใหม่หรือใช้ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ต่างๆที่กำหนดให้ โดยแบ่งเป็นการเชื่อมโยงความรู้ในเนื้อหาต่างๆทางคณิตศาสตร์และเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน ซึ่งการเรียนการสอนคณิตศาสตร์สามารถนำสถานการณ์ในชีวิตจริงมาจัดการเรียนการสอนได้
อ้างอิง
กรมวิชาการ. (2544). คู่มือการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ องค์การส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2550).ทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์.กรุงเทพฯ:ม.ป.ท.